วันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2554

เทคนิคการสอนเพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนมีความคิดสร้างสรรค์

 เทคนิคการสอนเพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนมีความคิดสร้างสรรค์
เรียบเรียงโดย นายอ๊ะหมัด  ดอละ
นศ.ป.บัณฑิต วิชาชีพครู (วันเสาร์)
สถาบันรัชต์ภาคย์ ศูนย์ภาคใต้ ยะลา

สมรรถนะด้านการคิดถือเป็นสมรรถนะสำคัญที่ควรมีกระบวนการปลูกฝังให้แก่ผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนได้สามารถใช้สมรรถนะดังกล่าวในการนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ต่างๆในชีวิตประจำวันของตนเองได้
หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ได้กำหนดสมรรถนะสำคัญของผู้เรียน หนึ่งในนั้นคือความสามารถในการคิด เป็นความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การคิดสังเคราะห์ การคิดอย่างสร้างสรรค์ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และการคิดเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้หรือสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจเกี่ยวกับตนเองและสังคมได้อย่างเหมาะสม ([1])
ความคิดสร้างสรรค์ หมายถึงกระบวนการทางปัญญาที่สามารถขยายขอบเขตความคิดที่มีอยู่เดิมสู่ความคิดที่แปลกใหม่แตกต่างไปจากความคิดเดิมและเป็นความคิดที่ใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม. ดังนั้นการคิดสร้างสรรค์นี้จะต้องมี 3 อย่างด้วยกันคือ
1.      ต้องเป็นสิ่งใหม่
2.      ต้องใช้การได้
3.      ต้องมีความเหมาะสม ([2])
การคิดอย่างสร้างสรรค์เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการ/รูปแบบการคิดเป็นกระบวนการทางปัญญาระดับสูงที่ใช้กระบวนการทางความคิดหลาย ๆ อย่างมารวมกัน เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่หรือแก้ปัญหาที่มีอยู่ให้ดีขึ้นโดยมีอิสรภาพทางความคิด ([3])
ดังนั้น ความคิดสร้างสรรค์เป็นความสามารถของบุคคลที่แสดงความคิดหลายทิศทาง หลายแง่มุม คิดได้กว้างไกล โดยนำประสบการณ์ที่ผ่านมาเป็นพื้นฐานที่ทำให้เกิดความคิดใหม่ อันไปสู่การประดิษฐ์คิดค้นพบสิ่งต่างๆที่แปลกใหม่ ความคิดสร้างสรรค์ประกอบด้วย ความคิดริเริ่ม ความคล่องในการคิด ความยืดหยุ่นในการคิด และความละเอียดลออ . ([4]) 
          การสร้างบรรยากาศในการเรียนที่จะส่งเสริมการคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องที่สำคัญที่จะกระตุ้นความสนใจ ความอยากรู้อยากเห็น ความถนัดของเด็กแต่ละระดับโดยคำนึงองประกอบ 3 ประการคือ
1.   บรรยากาศด้านกายภาพ ได้แก่ บริเวณภายในโรงเรียน อาคารสถานที่ ห้องเรียน และการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น
2.   บรรยากาศด้านสมอง เป็นการจัดบรรยากาศที่ผู้จัดการเรียนการสอนที่ท้าทายและกระตุ้นให้นักเรียนได้คิดในแบบต่างๆและสนับสนุนนักเรียนในทุกด้าน
3.   บรรยากาศด้านอารมณ์ ได้แก่ สร้างความไว้วางใจ เป็นกันเอง หลีกเลี่ยงการแข่งขันการประเมินซ้ำๆ ส่งเสริมจินตนาการ สนับสนุนความคิด/คำถามที่แปลกๆ เป็นต้น ([5])

แนวทางการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์
แนวทางการส่งเสริมให้นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์ ได้แก่ ([6])
Ø จัดบรรยากาศในห้องเรียนให้นักเรียนรู้สึกอิสระ นักเรียนสามารถแสดงความคิดเห็นใหม่ๆ แปลกๆ ของตนเอง
Ø ส่งเสริมให้นักเรียนถามและให้ความสนใจต่อคำถามแปลกๆ ด้วยตอบคำถามอย่างมีชีวิตชีวา โดยไม่เน้นคำตอบที่ถูกต้องเพียงเดียวแต่ควรกระตุ้นให้เด็กได้วิเคราะห์ค้นหาโดยใช้การสังเกตและประสบการณ์ของตัวเด็กเอง
Ø ส่งเสริมให้นักเรียนตอบคำถามชนิดปลายเปิดที่มีความหมายคำตอบไม่ตายตัว
Ø สนับสนุน ชื่นชมให้นักเรียนเรียนรู้มากขึ้น โดยให้ข้อมูลข่าวสารที่จะกระตุ้นให้นักเรียนมีความสนใจที่เรียนรู้เพิ่มขึ้นด้วยตนเองโดยไม่ต้องใช้วิธีบีบบังคับด้วยคะแนน
Ø ส่งเสริมให้นักเรียนใช้จินตนาการของตนเองและยกย่องชมเชยเมื่อมีจินตนาการที่แปลกกว่าคนอื่น


([1]) กระทรวงศึกษาธิการ, 2552, หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551, โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย, กรุงเทพฯ, หน้า 6 .
([2]) สุวิทย์ มูลคำ, 2547 , กลยุทธ์การสอนคิดสร้างสรรค์ , หจก ภาพพิมพ์ , กรุงเทพฯ , หน้า 9 .
([3]) พิมพ์ศิริ สิทธิวัง , การพัฒนาเด็กให้มีความคิดสร้างสรรค์ , เว็บไซต์ วันที่ 26 เม.ย. 2554 http://sps.lpru.ac.th/script/show_article.pl?mag_id=11&group_id=50&article_id=919
([4]) สุคนธ์ สิทธพานนท์ และคณะ , 2551 , พัฒนาทักษะการคิด พิชิตการสอน , โรงพิมพ์เลี่ยงเชียง , กรุงเทพฯ , หน้า 30 .
([5]) สุวิทย์ มูลคำ , อ้างแล้ว , หน้า 33-35 .
([6]) สุคนธ์ สิทธพานนท์ และคณะ, อ้างแล้ว, หน้า 34-35 . พิมพ์ศิริ สิทธิวัง, อ้างแล้ว, เว็บไซต์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น