วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เทคนิคการสอนเพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนมีความคิดสร้างสรรค์

           เด็กไทยไม่เก่งเรื่องการคิด  การใช้เหตุผล  หรือความคิดสร้างสรรค์  ก็เพราะกระบวนการจัดการเรียนการสอนของครูก็ไม่สัดทัดในการใช้เหตุผล  และไม่มีการส่งเสริมให้นักเรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์   โดยส่วนใหญ่มีการสอนแบบให้ความรู้ที่เป็นข้อเท็จจริงแต่ไม่ให้ความรู้ที่เป็นทักษะการคิด  ซึ่งก็เป็นที่น่าเสียดายที่เด็กไทยเสียเวลาในการเรียนรู้ข้อเท็จจริงมากเป็นร้อย ๆ หน้า  โดยไม่ได้อะไรเป็นผลตอบแทนเลย
โดยกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กฝึกทักษะการคิด  ฝึกความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  ที่ไม่ค่อยถูกนำมาใช้ในการจัดการเรียนรู้ได้แก่
                1.  การระดมสมอง  ให้เด็กได้ช่วยกันเสนอความคิดเกี่ยวกับเรื่องที่กำลังคิดอยู่  ทำให้บรรยากาศที่เป็นอิสระ  เพื่อให้เด็กกล้าแสดงความคิดเห็นออกมา  โดยจะต้องไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์  หรือตัดสินความคิดของใคร  ต้องไม่มีบรรยากาศของการแข่งขัน  มีแต่ความร่วมมือกัน  ให้กำลังใจกัน  เป็นกันเอง
                2.  การฝึกความคิดแบบอเนกนัย  เป็นความสามารถในการตอบสนองต่อสิ่งเร้า  และแสดงออกมาได้หลาย ๆ แบบ  หลาย ๆ วิธี
                3.  การสอนตามแนวคิดแบบนีโอฮิวแมนนิส  คือ  การสอนภายใต้บรรยากาศของความเป็นอิสระในการเรียนรู้  มีการส่งเสริมการแสดงออกอย่างเปิดเผย
                4.  การใช้เทคนิคการคิดนอกกรอบ  เป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้พัฒนาความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนได้
                5.  การสอนแบบสืบสวน  เป็นการส่งเสริมความคิดหลายทาง  และส่งเสริมให้นักเรียนมีความอยากรู้อยากเห็น
                6.  การใช้กระบวนการกลุ่มสัมพันธ์
                7.  การใช้รูปแบบการคิดแก้ปัญหาอนาคตตามแนวคิดของ  ทอแรนซ์  ในรูปแบบการคิดนี้มีการใช้เทคนิคระดมสมองเพื่อค้นพบปัญหา  และเพื่อคิดวิธีคิดปัญหาเป็นขั้นตอนย่อยอยู่ด้วย
                8.  การฝึกให้นักเรียนคิดเอาใจเขามาใส่ใจเราหรือการรู้จักรับฟังความคิดเห็น  หรือความรู้สึกของผู้อื่น
                9.  การใช้กิจกรรมการเรียนการสอนด้วยศูนย์การเรียนคอมพิวเตอร์  กิจกรรมนี้มีส่วนช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นอนุบาลได้มาก
                10.  การใช้กิจกรรมพัฒนาความสามารถในการประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ
                      ซึ่งแนวทางการพัฒนากระบวนการคิดสร้างสรรค์ที่กล่าวมานี้  ครูจำต้องศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมของทักษะ  และลักษณะการคิดอันเป็นพฤติกรรมพื้นฐานนำไปสู่กระบวนการคิดแล้วใช้ความเหมาะสมของเวลา  และเนื้อหาในบทเรียน  หรือโอกาสอื่น ๆ ในการจัดการเรียนการสอน  ฝึกให้นักเรียนแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ  เมื่อนักเรียนได้รับการฝึกบ่อยครั้งเข้าก็จะกลายเป็นความชำนาญ  ทำให้เด็กคิดเป็น  และแก้ปัญหาได้
                การคิดสร้างสรรค์เป็นกระบวนการคิดที่ซับซ้อน  ผู้คิดจะต้องใช้ทักษะและลักษณะการคิดหลายอย่างประกอบกัน  การฝึกฝนก็ต้องใช้วิธีการที่หลากหลาย  แต่ทุกวิธีจะมีจุดร่วมเดียวกัน  คือ  จะต้องดำเนินการภายใต้บริบทของการเรียนการสอนที่ยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง  (Child  centered)  การคิดสร้างสรรค์  และความสามารถในการแก้ปัญหาของเด็กมีความสัมพันธ์กับการจัดการเรียนการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสอนของครู  หมายความว่า  ถ้าครูเปลี่ยนพฤติกรรมการสอนมายึดเด็กเป็นศูนย์กลาง  โอกาสที่เด็กจะมีความคิดสร้างสรรค์ก็มีมากขึ้น  ความสามารถในการแก้ปัญหาของเด็กก็จะสูงขึ้น  เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ. 2542  แต่ก่อนที่จะหวังให้เด็กไทยคิดเป็นและแก้ปัญหาได้นั้น  ได้เกิดคำถามขึ้นในใจว่า ณ เวลานี้  ครูเปลี่ยนพฤติกรรมการสอนหรือยัง  และครูมีความเข้าใจแนวคิดการจัดการเรียนการสอนที่ยึดเด็กเป็นศูนย์กลางมากน้อยเพียงใด  หรืออาจจะต้องแก้ปัญหาที่ครูด้วยกระบวนการคิดสร้างสรรค์



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น