วันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เราจะนำปรัชญาการศึกษามาใช้ในการจัดการเรียนการสอนอย่างไรบ้าง?

                    ปรัชญาการศึกษา (Educational Philosophy) หมายถึง ความคิดหรือระบบของความคิดที่เกี่ยวกับการศึกษา ที่ตั้งอยู่บนรากฐานของปรัชญาแม่บทปรัชญาใดปรัชญาหนึ่ง ปรัชญาการศึกษาเป็นปรัชญาที่แตกหน่อมาจากปรัชญาทั่วไปอันเป็นปรัชญาที่ว่าด้วยความรู้ความจริงของชีวิต ปรัชญาการศึกษาเป็นความเชื่อ ความศรัทธา การเห็นคุณค่าในความคิดทางการศึกษาใดๆ ซึ่งผลักดันให้บุคคลคิดและกระทำการต่างๆ ในด้านการจัดการศึกษาให้มีความสอดคล้องกับความเชื่อนั้นๆ    
                    การจัดการเรียนการสอนสามารถนำปรัชญาการศึกษาต่างๆ    มาใช้เพื่อเป็นแนวทางในกระบวนการจัดการเรียนการสอน    ซึ่งปรัชญาการศึกษา  มี   5  ลัทธิ แต่ละปรัชญาจะมีแนวทางในการนำไปสู่การปฏิบัติที่แตกต่างกัน  การนำไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษา  จะต้องพิจารณาว่าแนวทางใดจึงจะดีที่สุด  และนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม     เช่น   ปรัชญาการศึกษาสารัตถนิยม  มีความเชื่อว่า การศึกษาควรมุ่งพัฒนาความสามารถที่มนุษย์มีอยู่แล้ว  ความสามารถในการจำ  ความสามารถในการคิด  ความสามารถที่จะรู้สึก  ฯลฯ   และปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยม  มีความเชื่อว่าบุคคลสามารถแสวงหาความรู้ได้จากประสบการณ์   จะเห็นได้ว่าทั้ง  2  ปรัชญามีความเชื่อที่แตกต่างกัน   และแนวทางการปฏิบัติก็แตกต่าง   จึงต้องพิจารณาแนวทางการปฏิบัติมาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนให้เหมาะสม     เนื่องจากการเรียนการสอนในแต่ละรายวิชาจะมีวิธีการสอนที่แตกต่างกัน  เช่น   ในรายวิชาคณิตศาสตร์   สามารถนำปรัชญาสารัตถนิยมมาใช้เพราะการจัดการเรียนการสอนควรจัดให้มีการท่องจำในเรื่องสูตรคณิตศาสตร์   และในรายวิชาวิทยาศาสตร์  สามารถนำปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยมมาใช้เกี่ยวกับการให้ความรู้จากประสบการณ์  กระบวนการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์จากการทดลอง    เป็นต้น
                           ดังนั้น  จะเห็นได้ว่า   ปรัชญาการศึกษามีความสำคัญในการจัดการเรียน
การสอน   เพราะเป็นแนวทางและกำหนดวิธีการสอนที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับ
การเรียนการสอนได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น